วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557

อ.ไชยา


อำเภอไชยา



ไชยา เป็นชื่อของอำเภอในจังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่เหนือตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมาประมาณ 38 กม. ความเก่าของเมืองไชยาต้องย้อนไปดูประวัติศาสตร์ที่ว่ากันว่า ที่นี่เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 1202 ถึง 1700 กว่า ๆ




ความเก่าของเมืองไชยาอาจจะดูได้จากพระบรมธาตุไชยา ซึ่งเป็นพุทธเจดีย์ทรงปราสาทศิลปกรรมแบบศรีวิชัย อายุอยู่ในสมัยช่วงปี พ.ศ.1300 แต่ประวัติความเป็นมาหรือเรื่องเล่าว่าใครเป็นคนสร้าง หรือแต่ครั้งโบราณกาลได้มีการบูรณะแต่งเติมกันมากี่ครั้ง ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ยินคนพูดถึงไว้




พระบรมธาตุไชยา อยู่ที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ถนนรักษ์นรกิจ (ทางหลวงหมายเลข 4011) ซึ่งเป็นถนนแยกจากทางหลวงหมายเลข 41 เข้าตัวอำเภอไชยา ในพื้นที่ บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ 2 กม.




พระบรมธาตุไชยาถูกทิ้งร้างอยู่เป็นเวลานาน มาปรากฏหลักฐานการบูรณะในรุ่นของพระอาจารย์หนู ติสโส (ท่านเจ้าคุณชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์) ในช่วงปี พ.ศ.2439 – 2453 ซึ่งได้มีการบูรณะยอดเจดีย์ขึ้นใหม่ เนื่องจากยอดเดิมหักพังลงมาจนถึงองค์ระฆัง ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ที่อยู่ข้างวัด




การเปลี่ยนแปลงเมื่อครั้งซ่อมใหญ่นั้น ที่เห็นได้ค่อนข้างชัดก็คือปูนปั้นที่บริเวณหน้าบัน ซึ่งน่าจะมีการแต่งเติมลวดลายใหม่ ๆ เข้าไป อย่างเช่น รูปตราแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในเป็นพระพุทธรูป รูปช้างสามเศียร รูปนกยูง รูปสิงห์ รูปเหรา รูปผีเสื้อ ที่ด้านข้าง




พระบรมธาตุไชยาเชื่อกันว่าเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า คำกล่าวนมัสการมีว่า วันทามิ เจติยัง สัพพัง สัพพัฏฐาเน สุปะติฏฐิตัง สารีริกะธาตุมะหาโพธิง พุทธะรูปัง สะกะลัง สะทาฯ ใครไปนมัสการวันนี้คงไม่ได้เห็นยอดสุวรรณฉัตร เพราะเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมานี่เอง ได้มีการทำพิธีอัญเชิญยอดสุวรรณฉัตรพระบรมธาตุไชยาลงมาให้สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ทำการซ่อมแซมบูรณะ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน แล้วก็จะประกอบพิธีอัญเชิญขึ้นประดิษฐบนยอดองค์พระธาตุไว้เหมือนเดิม

 

วัดพระบรมธาตุไชยาเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร จากพระพุทธรูปที่ปรากฏ ทั้งพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ และพระพุทธรูปประทับยืน ซึ่งปัจจุบันนำไปประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยานั้น มีอายุอยู่ในรุ่นทวารวดี ซึ่งก็เป็นไปได้ที่วัดนี้อาจจะมีมาก่อนการสร้างพระบรมธาตุ

 

ภายในเขตพุทธาวาสยังมีพระวิหารคด หรือระเบียงพระเวียนล้อมรอบเจดีย์พระบรมธาตุไชยาเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 39 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูป ฝีมือสกุลช่างไชยาไว้ 180 องค์


 

ด้านหน้าพระอุโบสถมีรูปจำลองของหลวงปู่ทวด และหลวงพ่อโต ไว้ให้ไปแวะนมัสการ แม้หลวงปู่กับหลวงพ่อจะเป็นพระที่มีชีวิตอยู่คนละช่วงอายุ โดยหลวงปู่อยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนหลวงพ่ออยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เราก็มักจะได้พบเห็นรูปจำลองของหลวงปู่กับหลวงพ่ออยู่ด้วยกันในหลายที่ อาจจะเป็นด้วยความเป็นพระที่อยู่ในความเคารพศรัทธา แต่บางที่ก็มีการพูดถึงความเป็นอริยสงฆ์องค์เดียวกันที่จะมาโปรดสัตว์ในช่วงต่างยุคสมัย


 



ที่ลานกลางแจ้งในเขตพุทธาวาสยังมีพระพุทธรูปศิลาทรายแดง 3 องค์ ประดิษฐานนั่งอยู่ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยาโดยฝีมือสกุลช่างไชยา บ้างก็เรียกว่าพระสามพี่น้อง แต่ก็ยังไม่ได้ยินเรื่องเล่าว่าทำไมท่านถึงต้องมานั่งรวมกันอยู่ที่กลางแจ้ง เมื่อดูจากสภาพโดยรอบแล้วก็เป็นได้ว่าแต่เดิมน่าจะมีวิหารอยู่ แล้วก็คงชำรุดไปตามอายุ




เขตสังฆาวาสด้านทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ซึ่งมีอาคารอยู่ 2 หลังที่ใช้ในการจัดแสดง ที่น่าสนใจก็คือ กลองมโหระทึกที่ทำจากสำริด อายุอยู่ในรุ่นพุทธศตวรรษที่ 5 รูปจำลองพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อายุสมัยศรีวิชัย และหน้าบันไม้จำหลักวิหารเก่าของวัดพระบรมธาตุไชยา


 



ออกจากวัดไปประมาณ 1-2 กม. ก็จะถึงตัวตลาดไชยา ซึ่งไม่ช้าไม่นานมานี้ก็คงจะเป็นแหล่งศูนย์กลางตลาดการค้าที่สำคัญ เพราะขนาดชื่อตำบลยังเรียกว่า ตำบลตลาดไชยา แต่วันนี้สภาพอาจเปลี่ยนไปบ้าง เลยทำให้อะไร ๆ ก็ดูจะเหงา ๆ ไป


 

ที่ตั้งเมืองไชยาในสมัยอดีตกาลนั้นถ้าดูจากที่ตั้งของโบราณสถานที่สำคัญอย่างพระบรมธาตุไชยา ก็น่าจะอยู่แถว ๆ ตำบลเวียง ในปัจจุบัน แต่เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนพระเจ้าปะดุงพาทัพจากอังวะมาเผาเมือง คงยากที่จะบูรณะก็เลยพากันไปสร้างเมืองใหม่อยู่ที่แถว ๆ บ้านพุมเรียงในปัจจุบัน เพราะใกล้ทะเลเหมาะสำหรับการทำการค้าและการประมง จนเมื่อมีทางรถไฟลงมา การค้าทางบกคงจะสะดวกกว่า เมืองก็เลยย้ายมาอยู่แถว ๆ ตำบลตลาดไชยา นี้แทน


  



เข้าตัวเมืองไชยาถึงไม่คุ้นเคยก็ไม่น่าจะหลงทาง เพราะเห็นมีถนนหลัก ๆ อยู่แค่ 3 สาย ถ้าจำไม่ผิดก็มี ถนนรักษ์นรกิจ ถนนวิชิตภักดี และถนนชวนะนันท์ ซึ่งนับวันก็ดูจะคับแคบ เพราะเป็นถนนเก่าแก่ในย่านธุรกิจที่คงขยายไม่ออกติดอาคารร้านค้าบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นมากเลยทำให้สภาพการจราจรเริ่มออกอาการติดขัดอยู่บ้าง


 



ตัวตลาดสดเทศบาลตำบลตลาดไชยาอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนกับสถานีรถไฟ เป็นตลาดใหญ่ด้านหน้าขายพวกพืชผักผลไม้ อาหารปรุงสำเร็จ ส่วนพวกเนื้อสัตว์ ของสดต่าง ๆ ต้องเข้าไปข้างใน ด้านข้าง ๆ ติดกับตลาดสดแยกออกจากกันเป็นสัดส่วน จะเป็นตลาดขายพวกเสื้อผ้า
 

สถานีรถไฟไชยา เป็นสถานีรถไฟชั้น 2 ซึ่งเป็นชั้นที่อยู่ต่ำกว่าสถานีชั้นพิเศษ กับสถานีชั้น 1 และอยู่เหนือกว่าสถานีชั้น 3 กับชั้น 4 อยู่ทางใต้ของสถานีเขาพนมแบก และอยู่ทางเหนือของสถานีท่าฉาง  มีขบวนรถจอดถึง 20 ขบวนต่อวัน อายุของสถานีน่าจะอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2478 ซึ่งเป็นปีที่มีการย้ายที่ตั้งตัวอำเภอมาอยู่ที่นี่ หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย
 

ถ้าจำไม่ผิดก่อนที่ไข่เค็มไชยาจะไปกระจายวางขายกันอยู่ริมทางหลวงแบบมากร้านจนเลือกซื้อไม่ถูก แรก ๆ เลยจะมีขายกันอยู่ก็แถว ๆ สถานีรถไฟไชยานี่แหละ  แต่ก่อนสมัยที่ยังขับรถเองไม่เป็น หรือพูดง่าย ๆ ว่า ยังไม่มีรถขับเอง ถ้าจะไปเที่ยวไชยาก็จะเลือกไปทางรถไฟ และจะไปไหนก็จะไปหารถรับจ้างต่อเอาแถว ๆ สถานีรถไฟ
 

ไปถึงตัวเมืองไชยาแล้วก็ควรจะเลยไปเมืองเก่าไชยาที่บ้านพุมเรียง ซึ่งอยู่เลยลึกต่อเข้าไปอีกประมาณ 7 กม. ตำนานมวยไชยาก็สอนกันต่อยกันที่นี่มาก่อน จนมีชื่อบันทึกไว้ถึงสถานที่ประมือมวยไชยาที่เรียกกันว่า ศาลาเก้าห้อง ปัจจุบันที่ยังคงมีชื่อเสียงจับต้องได้ก็คือผ้าไหมทอพุมเรียง งานฝีมือจากหมู่บ้านชาวไทยมุสลิม ที่ยกลายได้สวยงามไม่ว่าจะเป็น ลายราชวัตร ลายดอกลอย ลายนพเก้า ลายยกเบ็ด ฯลฯ โดยส่วนตัวไปได้ลายดอกพิกุลมาผืน เอามาฝากสาวขนาดผ้าพอตัดได้ทั้งชุดพร้อมผ้าซับ ราคา 2,500 บาท เห็นขายกันอยู่ที่ร้านในกรุงเทพฯ ราคากว่าเท่าตัว



 

ไปถึงบ้านพุมเรียงแล้วก็อย่าลืมแวะผ่านไปดูบ้านเกิดของท่านพุทธทาส ซึ่งท่านเกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 ในชื่อของเด็กชายเงื่อม พานิช ที่บ้านท่านทำอาชีพค้าขายของชำชื่อร้านไชยาพานิช ดูจากรูปบ้านและสภาพแล้วน่าจะเป็นบ้านที่สร้างขึ้นใหม่ เพราะบ้านสมัยร้อยกว่าปีก่อนคงไม่เป็นเหมือนอย่างนี้


  

แหลมโพธิ์ ตำบลพุมเรียง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชายทะเลของไชยา อยู่ห่างจากบ้านพุมเรียงประมาณ 2 กม. พื้นที่ยังโล่งรับแดดแรง ขาดต้นไม้ให้ร่มเงา ไม่น่าจะเหมาะกับการเที่ยวกลางวัน มีซุ้มนั่งของร้านขายอาหารที่น่าจะเหมาะกับบรรยากาศยามแดดร่มลมตก
  
แหลมโพธิ์ในประวัติศาสตร์จากการค้นพบซากเรือและสิ่งของที่จมอยู่ ทำให้เชื่อว่าบริเวณนี้จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นเมืองท่าของการค้าทางทะเลมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12-18 เลยมาจนถึงในสมัยอยุธยา เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนำพลมาปราบทัพเมืองนครศรีธรรมราช ก็ยกพลมาขึ้นบกแถวนี้


จากสะพานข้ามแม่น้ำพุมเรียง จะได้เห็นบรรยากาศบริเวณปากแม่น้ำ สองฝั่งจะเห็นหมู่บ้านประมง ซึ่งคนที่นี่จะทำประมงด้วยเรือเล็ก ใกล้กันกับสะพานที่ว่านี้เป็นตลาดซื้อขายของจากท้องทะเลในช่วงที่เรือประมงกลับเข้าฝั่ง ที่เป็นที่นิยมกันก็คือ ปลาทะเล และปูม้า แต่ที่เป็นของเฉพาะถิ่นจากทะเลย่านนี้ที่ควรได้ไปลองชิมก็คือ หอยขาวพุมเรียง


ย้อนกลับเข้าตัวเมืองไชยาไปที่สวนเฉลิมพระเกียรติทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ของเทศบาลตำบลตลาดไชยา ที่เสาอิฐสี่เสาสองข้างของรูปจำลองพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งที่สวนโมกข์สมัยที่ท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ก็ได้สร้างรูปจำลองนี้ไว้ มีข้อความที่ท่านพุทธทาสเคยพูดถึงใบหน้าของรูปปฏิมานี้ว่าแสดงอารมณ์ถึง สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ

ที่มา http://www.oknation.net/blog/print.php?id=284579

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น