วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เขาสก -เขื่อนรัชประภา

ที่ตั้งและแผนที่
หมู่ที่ 6 ต.คลองศก อ. พนม จ. สุราษฏร์ธานี 84250

โทรศัพท์ : 0 7739 5139, 0 7739 5154-5 โทรสาร : 0 7739 5139, 0 7739 5154

อีเมล : khaosok_npks@hotmail.co.th

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายชัยชนะ วิชัยดิษฐ
ตำแหน่ง : เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส

อุทยานแห่งชาติเขาสกดินแดนศูนย์กลางของ “ขุนเขาแห่งป่าฝน” เป็นผืนป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญของภาคใต้อันประกอบไปด้วยอุทยานแห่งชาติเขาสก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา อุทยานแห่งชาติศรีพังงา และอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,296,879.5 ไร่ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อุดมไปด้วยพืชพรรณมากมายหลายชนิด ทั้งพืชพรรณที่หายากและเป็นพืชเฉพาะถิ่น อันได้แก่ บัวผุด ปาล์มเจ้าเมืองถลางหรือปาล์มหลังขาวและปาล์มพระราหู นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะพบสัตว์ป่าสงวนถึง 4 ชนิด คือ เก้งหม้อ เลียงผา สมเสร็จ และแมวลายหินอ่อน และประกอบกับสภาพพื้นที่มีทิวทัศน์ ที่สวยงาม มีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติทั้งน้ำตก หน้าผา ถ้ำ และ ทิวทัศน์เทือกเขาหินปูนที่ตั้งตระหง่านเหนือผืนน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา จนได้รับฉายาว่า กุ้ยหลินเมืองไทย

อุทยานแห่งชาติเขาสกจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองหยีและคลองพระแสง ในท้องที่ตำบลคลองศก ตำบลพังกาญจน์ ตำบลพนม อำเภอพนม ตำบลพะแสงและตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่ 645.52 ตารางกิโลเมตร หรือ 403,450 ไร่ โดยประกาศในราชกิจานุเบกษาเล่มที่ 97 ตอนที่ 197 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2523 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 22 ของประเทศไทย ต่อมาได้มีการปรับปรุงแนวเขตและเพิกถอนบริเวณทับซ้อนกับแนวเขตนิคมสหกรณ์พนมได้ทำการผนวกพื้นที่น้ำเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภาเข้าเป็นอุทยานแห่งชาติเขาสก รวมมีเนื้อที่ทั้งหมด 738.74 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 461,712.5 ไร่ ตามประกาศพระราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 111 ตอนที่ 32 ก เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2537


ขนาดพื้นที่
461712.50 ไร่


หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสกที่ ขส.1 (เขาตอเต่า)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสกที่ ขส.2 (แก่งเชี่ยวหลาน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสกที่ ขส.3 (อ่าวสมเด็จ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสกที่ ขส.4 (คลองแปะ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสกที่ ขส.5 (คลองหมอก)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสกที่ ขส.6 (บางหมาน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสกที่ ขส.7 (ไกรสร)
ศูนย์พัฒนาการท่องเที่ยวคลองคะ


ภาพแผนที่


ลักษณะภูมิประเทศ 
อุทยานแห่งชาติเขาสกอยู่บริเวณตอนใต้ของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 08 องศา 50 ลิบดา 43 พิลิบดา – 09 องศา 17 ลิบดา 24 พิลิบดา เหนือ และระหว่างเส้นแวงที่ 98 องศา 30 ลิบดา 44 พิลิบดา – 98 องศา 90 ลิบดา 13 พิลิบดา ตะวันออก มีอาณาเขตทิศเหนือจดเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าคลองแสง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา ทิศใต้จดนิคมสหกรณ์พนม ทิศตะวันออกจดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและเขื่อนรัชชประภา และทิศตะวันตกจดอุทยานแห่งชาติศรีพังงา
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาดินและภูเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน โดยเฉพาะช่องแคบเขากาเลาะมีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนที่มียอดแหลมระเกะระกะ มีแนวหน้าผาสูงชันบางแห่งเป็นแท่งสูงขึ้นไปในอากาศคล้ายหอคอยสูง ที่ราบมีไม่มาก มีสภาพป่าเป็นป่าดงดิบที่สมบูรณ์มากเป็นป่าต้นน้ำลำธารของคลองศกและคลองพะแสง ไหลมาบรรจบรวมกันเป็นต้นกำเนิดของคลองพุมดวง ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งที่สำคัญของแม่น้ำตาปี จุดสูงสุดมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 961 เมตร โดยเฉลี่ยสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร และลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินเหนียวปนทรายมีสีแดง บางแห่งเป็นดินลูกรังแต่มีส่วนน้อย
พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติด้านทิศเหนือเกือบทั้งหมด เป็นทะเลสาบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนรัชชประภา ซึ่งสร้างปิดกั้นคลองพะแสง มีขนาดใหญ่ประมาณ 168 ตารางกิโลเมตร ก่อให้เกิดเกาะเล็กเกาะน้อยประมาณ 162 เกาะ พื้นที่ประมาณ 14.06 ตารางกิโลเมตร เกาะเล็กเกาะน้อยนี้ก็คือ ส่วนที่โผล่พ้นน้ำของเขาหินปูนนั่นเอง ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามยิ่งสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูนพบมากทางด้านทิศตะวันออก ภูเขาหินปูนที่พบเห็นตั้งโดดเด่นเรียงรายต่อกันเป็นเทือก ยาวประมาณ 8 กิโลเมตร พื้นที่สูงต่ำเป็นคลื่นไม่สม่ำเสมอ ทางด้านตะวันตกเป็นเทือกเขาดินจะมีเทือกเขาสก เขานมสาว ยาวติดต่อกันโดยจุดสูงสุดมีความสูง 960 เมตร จากระดับน้ำทะเล ทำให้เกิดบริเวณที่มีทิวทัศน์สวยงามหลายแห่ง อาทิ เช่น น้ำตก ถ้ำ และทิวทัศน์เทือกเขาหินปูนเหนือพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภามีเนื้อที่ประมาณ 167.29 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 105,000 ไร่ มีเกาะต่างๆประมาณ 165 เกาะ อีกทั้งสภาพพื้นที่เกือบทั้งหมดประกอบด้วยภูเขาสูงจึงทำให้เกิดลำธารน้อยใหญ่จำนวนมาก
อุทยานแห่งชาติเขาสกเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำคลองหลายสายที่สำคัญ คือ คลองศก ทางทิศใต้ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก โดยมีคลองบางแลนเป็นลำคลองประกอบ และคลองแสง ทางทิศเหนือของพื้นที่อุทยานฯ โดยมีคลองหยี คลองแปะ คลองหวาง เป็นลำคลองประกอบ ซึ่งปัจจุบันมีการกักกั้นจัดทำเป็นเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ชื่อว่า เขื่อนรัชชประภา สร้างพลังงานให้แก่ประชาชนและธุรกิจต่างๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและใกล้เคียง ลำคลองศกและคลองแสง ไหลไปรวมกันที่อำเภอบ้านตาขุน และไปสู่แม่น้ำตาปี
บริเวณนิคมสหกรณ์พนม มีพื้นที่ราษฎรอาศัยถือครองทำกิน ซึ่งมีการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ส่วนใหญ่ราษฎรจะทำสวนยางพารา และสวนผลไม้ เช่น เงาะ มังคุด ลองกอง สะตอ เป็นต้น เทคโนโลยีที่นำมาใช้ส่วนใหญ่ยังใช้แรงคน มีการใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืชนำมาใช้ในการเกษตร
ชุมชนใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีการประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว เช่น ที่พัก บังกะโล และการนำเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติเขาสกนับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางบกที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี (นายวิจิตร วิชัยสาร) และภาคีต่างๆ ได้ร่วมกันหารือกับอุทยานแห่งชาติเขาสกแล้วว่า จะกำหนดให้อุทยานแห่งชาติเขาสก เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ในแผนยุทธศาสตร์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะมีประกาศใช้ต่อไป
สภาพเส้นทางคมนาคมมุ่งสู่อุทยานแห่งชาติเขาสกใช้ทางหลวงหมายเลข 401 สุราษฎร์ธานี-ตะกั่วป่า สองข้างทางมีความวิจิตรสวยงามด้วยทัศนียภาพจากภูเขาหินปูน ร่มรื่นด้วยต้นไม้ น้อยใหญ่ตลอดเส้นทาง พ.ศ. 2550 ได้รับงบประมาณจากผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ(CEO) เป็นเงินถึง 25 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ เพื่อสำหรับให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมความงดงามและความมหัศจรรย์ของเขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานสากลอย่างครบครัน
พื้นที่ผนวกเพิ่มเติม บริเวณ บ้านเขายา ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน เนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ โดยป่าเขายา มีเนื้อที่ทั้งหมด 5,563.25 ไร่ จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่จากฝ่ายรังวัด ส่วนรังวัดแนวที่ดินป่าไม้ สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชปรากฎว่า มีพื้นที่ป่าสมบรณ์ ที่ควรผนวก ทั้งหมด 3,000.94 ไร่ ส่วนพื้นที่บุกรุกถือครองที่ไม่เหมาะสมที่จะผนวกเนื้อที่ 2,562.31 ไร่ บริเวณพื้นที่อำเภอบ้านตาขุน ตำบลเขาพัง จ.สุราษฎร์ธานี มีอาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือจด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ทิศใต้จด อุทยานแห่งชาติเขาสก ทิศตะวันออกจด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง และ ทิศตะวันตกจด อุทยานแห่งชาติศรีพังงา โดยพื้นที่ป่าบริเวณนี้ เป็นเขตรอยต่อกับผืนป่าเขาสก


ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของอุทยานแห่งชาติเขาสก เป็นแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู (Tropical Savanna Climate) ลมมรสุมที่พัดผ่านแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนจะมีฝนตกชุก เนื่องจากได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมฝนที่ตกลงมาเนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูแล้งเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน ในช่วงระยะนี้ลมมรตะวันออกเฉียงเหนืออ่อนกำลังลง มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดมาแทนที่ ทำให้อากาศร้อนและอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย มีฝนตกบ้างไม่มากนัก กรมอุตุนิยมวิทยา ในคาบ 33 ปี (พ.ศ.2504-2538) พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26.4 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 27.9 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 25.0 องศาเซลเซียส ในเดือนมกราคม ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีอยู่ในช่วงร้อยละ 8.3 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในช่วง 1,635.5 มิลลิเมตร


พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
สภาพป่าโดยทั่วไปของอุทยานแห่งชาติเขาสกเป็น
ป่าดงดิบชื้น ซึ่งพบเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ส่วนมากกระจัดกระจายอยู่ตามบริเวณที่มีความชุ่มชื้นมาก ลักษณะสภาพทั่วไปรกทึบ มีเรือนยอดต่อเนื่องจากชั้นบนสุดลงมาถึงพื้นดิน พันธุ์ไม้ที่พบสำคัญได้แก่ ยางเสียน นาคบุตร ตะเคียนทอง จิกเขา ไข่เขียว ตาเสือ ตังหนใบใหญ่ สะตอ คอแห้ง เสียดช่อ เต้าหลวง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ ปาล์มช้างไห้ หวายขริง หวายเดา เร่ว และปุด เป็นต้น ในบริเวณที่เป็นสันเขาและหน้าผาหินปูนจะพบสังคมพืชของ

ป่าเขาหินปูน พืชพรรณที่สามารถขึ้นอยู่ได้ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นที่ทนแล้ง รวมไปถึงพืชล้มลุกที่มีระบบรากยึดเกาะตามหน้าผาได้ดี พืชที่พบได้แก่ จันทน์ผา กำลังหนุมาน เตยเขา มะนาวผี ตะเคียนหิน มลายเขา พลับพลา สลัดไดป่า เป็นต้น จากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาสก จึงเป็นแหล่งรวมพืชหายากและพืชเฉพาะถิ่น เช่น บัวผุด หมากพระราหู ปาล์มเจ้าเมืองถลาง รองเท้านารีเหลืองกร เอื้องฝาหอย มหาสดำ สังวาลย์โนรี เป็นต้น บางส่วนของพื้นที่ป่าต้นน้ำคลองศกเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่ารอยต่อของการกระจายพันธุ์พืช เช่น แดง ยวนแหล และตะเคียนชันตาแมว

บัวผุด มีชื่อวิทยาศาสตร์ Rafflesia kerrii Meijer ถือได้ว่าเป็นดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70-80 เซนติเมตร เป็นกาฝากชนิดหนึ่งที่อาศัยกินน้ำเลี้ยงจากรากและลำต้นของไม้เถาที่ชื่อว่า ย่านไก่ต้ม ( Tetrastigma papillosumplanch ) จะโผล่เฉพาะดอก ซึ่งเป็นดอกเดี่ยวสีแดงคล้ำหรือน้ำตาลปนแดงคล้ำ ขึ้นมาจากพื้นดินในระหว่างฤดูฝนหรือในระยะที่อากาศและพื้นดินยังมีความชุ่มชื้นสูงคือระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม

อุทยานแห่งชาติเขาสกเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 415 ชนิด ประกอบด้วย สัตว์ป่าสงวน เช่น สมเสร็จ เลียงผา เก้งหม้อ และแมวลายหินอ่อน นอกจากนี้มีสัตว์อื่นๆ เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ หมีขอ ค่างดำ ชะนีธรรมดา ไก่ป่า นกคุ่มอกลาย นกเขาหลวง นกอีวาบตั๊กแตน นกบั้งรอกใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกกะเต็นอกขาว นกโพระดกสวน นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกนางแอ่นบ้าน นกปรอดทอง นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกจับแมลงหัวเทา นกกระติ๊ดตะโพกขาว ตะพาบน้ำ จิ้งจกหางเรียบ กิ้งก่าบินปีกส้ม จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ งูลายสอธรรมดา งูสิงธรรมดา งูปล้องทอง งูเขียวดอกหมาก เขียดบัว กบนา อึ่งลายแต้ม ฯลฯ

ในบริเวนอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนรัชชประภา และแหล่งน้ำต่างในอุทยานแห่งชาติเขาสก อุดมไปด้วยปลาน้ำจืดมากมายหลายชนิด เช่น ปลาแปป ปลาแกง ปลาหนามหลัง ปลาใบไม้ ปลาสร้อย ปลาเล็บมือนาง ปลาปากใต้ ปลารากกล้วย ปลาหมูจุด ปลาแขยงหิน ปลากระทุงเหวเมือง ปลาบู่หมาจู ปลาปักเป้า และปลามังกร เป็นต้น 






การเดินทาง





การเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเขาสก มีสองเส้นทางคือ จากอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี หรืออำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 (สุราษฎร์ธานี-ตะกั่วป่า) แยกเข้าอุทยานแห่งชาติเขาสก ตรงหลักกิโลเมตรที่ 109 ไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

สำหรับการเดินทางไปเขื่อนรัชชประภา อยู่ที่อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ใส้นทางแยกเข้าสู่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขส.2 (แก่งเชี่ยวหลาน) ระหว่างกิโลเมตรที่ 57-58 และ เข้าสู่ไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงเขื่อนรัชชประภา สามารถนั่งเรือต่อไปหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำได้แก่แพนางไพร แพโตนเตย แพไกรสร อัตราค่าเรือตั้งแต่ 1,800บาทขึ้นไป ระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทาง 780 กิโลเมตร เดินทางโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 (สุราษฎร์ธานี- ตะกั่วป่า) ระยะทาง 91 กิโลเมตรถึงปากทางเข้าที่ทำการอุทยานฯ ที่กิโลเมตรที่ 109 เลี้ยวขวา ระยะประมาณ 1.5 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสก ใช้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 8-10 ชั่วโมง


รถไฟ
การรถไฟแห่งประเทศไทยให้บริการเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี ทุกวัน มีทั้งรถด่วนและรถเร็ว และจากสถานีรถไฟพุนพิน และนั่งรถประจำทางสายสุราษฎร์ธานี - ตะกั่วป่า - ภูเก็ต ลงรถที่หลักกิโลเมตรที่ 109 จากปากทางเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสก สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) โทร.0-2223-0341 จากสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี (พุนพิน) โทร. 0-7731-1213 *หมายเหตุ ในการเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติเขาสกทั้งโซนทางบกและโซนทางน้ำ ถ้ามีรถยนต์ส่วนตัวจะสะดวกในการเดินทาง


รถโดยสารประจำทาง
รถบัสโดยสารปรับอากาศ สาย 444 กระบี่-พังงา-ทุ่งมะพร้าว-ปากทางทับละมุ-เขาหลัก-ปากทางน้ำเค็ม-ตะกั่วป่า-อุทยานแห่งชาติเขาสก รถออกจาก บ.ข.ส. กระบี่ (ตลาดเก่า) เวลา 11.30 น. รถออกจากปากทางอุทยานแห่งชาติเขาสก เวลา 09.00 น. ท่านผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋วบนรถ หรือจุดขายตั๋ว ณ บ.ข.ส. นั้นๆ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.075-663444,080-2802105 หรือ 080-2802116


รถโดยสารประจำทาง
รถตู้ปรับอากาศ สุราษฎร์ธานี - อุทยานแห่งชาติเขาสก *จุดจอดและจำหน่ายตั๋ว ตั้งแต่เวลา 7.30 น. - 17.00 น. - เขาศก สามแยกเข้าอุทยาน โทร. 07-2735907 - พนม ศาลาข้างป้อมตำรวจ โทร. 09-5936099 - ปากทางคริต สามแยกปากทางคริต โทร. 06-2670149 - ตาขุน หลังศาลาตาขุน โทร. 01-0824041 - สามแยกหนองขรี โทร. 01-5367126 - ตลาดเกษตร 2 ร้านข้าวแกงป้าเยาว์ โทร. 077-206217 *ตารางรถตู้ปรับอากาศ สายสุราษฎร์ธานี-เขาศก เขาศก - สุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี - เขาศก เที่ยว ออก ถึงตาขุน เที่ยว ออก 1. เขาศก 7.15 8.15 1. บ้านดอน 6.30 2. เขาศก 8.30 9.30 2.บ้านดอน 8.30 3. พนม 10.25 10.40 3. บ้านดอน 10.30 4.เขาศก 12.40 13.40 4. บ้านดอน 12.30 5. พนม 14.20 14.35 5. บ้านดอน 14.30 6. เขาศก 16.30 17.30 6. บ้านดอน 17.00 *อัตราค่าโดยสาร เขาศก - สุราษฎร์ธานี 120 บาท/คน สุราษฎร์ธานี - เขาศก 120 บาท/คน พนม - สุราษฎร์ธานี 80 บาท/คน สุราษฎร์ธานี - พนม 80 บาท/คน ตาขุน - สุราษฎร์ธานี 80 บาท/คน สุราษฎร์ธานี - ตาขุน 80 บาท/คน


รถโดยสารประจำทาง
มีหลายบริษัทให้บริการรถโดยสารจากสถานีขนส่งสายใต้สู่ จ.สุราษฎร์ธานีสอบถามรายละเอียด ได้ที่สถานีขนส่งสายใต้ โทร.0-2434-7192,0-2434-5557-8 หรือสถานีขนส่งสุราษฎร์ธานี โทร.0-7720-0032-3 จากนั้น โดยสารรถประจำทางหรือรถทัวร์ที่วิ่งผ่านเส้นทางหลวงหมายเลข 401 คือรถสายสุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต *หมายเหตุ ในการเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติเขาสกทั้งโซนทางบกและโซนทางน้ำ ถ้ามีรถยนต์ส่วนตัวจะสะดวกในการเดินทาง 

ที่มา http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1022

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น